ทำความรู้จักไวรัสตับอักเสบ และวิธีรักษาที่ถูกต้องแม้ไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) จะเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในบ้านเรา แต่ไม่ใช่ทุกคนจะรู้เกี่ยวกับชนิดของไวรัสตับอักเสบ อาการที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิด และวิธีรักษาที่ถูกวิธี อีกทั้งอาจคาดไม่ถึงเลยว่า ไวรัสตับอักเสบบางชนิดอาจนำไปสู่โรคอันตรายต่อตับหรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
ไวรัสตับอักเสบเป็นการอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณตับ ส่วนใหญ่มักเป็นผลมาจากการติดเชื้อไวรัส แต่นอกจากจะมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสแล้ว ตับอักเสบยังเป็นผลจากการการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การได้รับสารพิษ การใช้ยาบางชนิด และปัญหาสุขภาพบางประการด้วย
ผู้ป่วยที่มีตับอักเสบเฉียบพลันอาจไม่มีอาการแสดงออก ทำให้ไม่รู้ว่าป่วยเป็นโรคนี้จนกว่าจะมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ มีไข้สูง รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา ไม่อยากอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปัสสาวะเป็นสีเข้ม อุจจาระสีซีด ดีซ่านหรือตัวเหลือง ตาเหลือง บางรายที่มีอาการเรื้อรังอาจพบอาการอื่น ๆ หรืออาการรุนแรงขึ้น เช่น บวมที่ขา ข้อเท้า หรือฝ่าเท้า อาเจียนปนเลือด อุจจาระปนเลือด
ชนิดของไวรัสตับอักเสบ
ปกติแล้ว ไวรัสตับอักเสบจะมีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี ดี และอี ซึ่งชนิดที่พบได้บ่อยและให้ความสำคัญเป็นอย่างมากจะเป็นไวรัสตับอักเสบบีและซี เพราะสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยรายละเอียดของไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิดที่ควรรู้เบื้องต้นมีดังนี้
ไวรัสตับอักเสบ เอ
ไวรัสตับอักเสบ เอ ติดต่อจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A Virus: HAV) จากอุจจาระของผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งพบได้บ่อยในพื้นที่ที่มีสุขภิบาลไม่ดี ผู้ป่วยมักมีอาการในระยะสั้น ๆ และมักหายดีภายใน 2–3 เดือน บางรายอาจมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต แต่พบได้น้อย
ไวรัสตับอักเสบ บี
เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B Virus: HBV) จะติดต่อผ่านทางเลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งหรือของเหลวอื่น ๆ ในร่างกายผู้ป่วย โดยสามารถส่งผ่านจากแม่สู่ทารกในครรภ์ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย หรือการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกันกับผู้ป่วย เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน หรือเข็มฉีดยา โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้ใช้สารเสพติด
ไวรัสตับอักเสบชนิดนี้มักพบมากในเด็ก ซึ่งหากร่างกายมีภูมิต้านทานที่แข็งแรง อาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ แต่หากผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่ำอาจทำให้เกิดอาการเรื้อรัง และยังเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นตับแข็ง ตับวาย หรือมะเร็งตับ
ไวรัสตับอักเสบ ซี
ไวรัสตับอักเสบ ซี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี (Hepatitis C Virus: HCV) ทางเลือด โดยเฉพาะการใช้เข็มฉีดยาหรืออุปกรณ์ในการฉีดยาเดียวกันกับผู้ติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบชนิดนี้มักส่งผลเรื้อรัง แต่ผู้ป่วยอาจไม่พบอาการป่วย ๆ ใดหากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ ทำให้กว่าจะรู้ตัวว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้นก็อาจมีปัญหาเกี่ยวกับตับที่รุนแรงแล้ว
ไวรัสตับอักเสบ ดี
เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดดี (Hepatitis D Virus: HDV) ถือเป็นชนิดที่พบได้น้อย และพบในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีเท่านั้น เพราะจำเป็นต้องพึ่งพาไวรัสตับอักเสบชนิดบีเพื่อให้มีชีวิตรอดอยู่ในร่างกาย โดยก่อให้เกิดอาการได้ทั้งแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง
ไวรัสตับอักเสบ ดี สามารถติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือของเหลวต่าง ๆ ในร่างกายผู้ป่วยโดยตรง เช่น เลือด ปัสสาวะ หรือน้ำอสุจิ โดยเฉพาะผู้ใช้สารเสพติด ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี หรือดี ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แบบชายและชาย หรือผู้ป่วยเอชไอวี
ไวรัสตับอักเสบ อี
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดอี (Hepatitis D Virus: HDV) เป็นปัญหาที่มาพร้อมสุขอนามัยที่ไม่ดี การรับประทานอาหารดิบ กึ่งสุกกึ่งดิบ หรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากอุจจาระของผู้ติดเชื้อ โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักมีอาการในระยะสั้น ๆ และไม่รุนแรงนัก
วิธีรักษาไวรัสตับอักเสบอย่างถูกวิธี
ในเบื้องต้น แพทย์จะตรวจร่างกายและสอบถามประสุขภาพของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจเพิ่มเติม อาทิ การตรวจทำงานของตับ การตรวจเลือด การตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อตับ หรือการอัลตราซาวด์ เพื่อให้แพทย์วางแผนการรักษาได้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน เนื่องจากไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิดมีการรักษาที่ต่างกันไป เช่น
ไวรัสตับอักเสบ เอ มักไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีเฉพาะ แต่จะรักษาตามอาการที่เกินขึ้น โดยแพทย์อาจวางแผนการรับประทานอาหารให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาอาเจียนหรือท้องเสีย เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำและสารอาหารที่จำเป็น
ไวรัสตับอักเสบ บี มักรักษาตามอาการเช่นกัน แต่กรณีที่มีอาการเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาต้านไวรัสติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี ซึ่งแพทย์จะคอยติดตามอาการและสัญญาณของโรคตับเป็นระยะ ๆ
ไวรัสตับอักเสบ ซี รักษาด้วยการใช้ยาต้านไวรัส ทั้งผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยแพทย์อาจให้รับประทานติดต่อกันประมาณ 8–12 สัปดาห์ บางรายอาจต้องเข้ารับการปลูกถ่ายตับหากไวรัสตับอักเสบ ซี ทำให้เกิดโรคตับหรือตับแข็ง
ไวรัสตับอักเสบ ดี แพทย์อาจสั่งจ่ายยาอินเตอร์เฟอรอน (Interferon Alfa-2b) ให้กับผู้ป่วยบางรายนานถึง 12 เดือน เพื่อบรรเทาอาการและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
ไวรัสตับอักเสบ อี มักหายดีได้โดยไม่ต้องรักษา จึงไม่มีวิธีรักษาไวรัสตับอักเสบชนิดนี้โดยตรง หากมีอาการเฉียบพลันที่รุนแรง อาจต้องรับประทานยาต้านไวรัส นอกจากนี้ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มาก รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากพบอาการเข้าข่ายไวรัสตับอักเสบหรืออาการผิดปกติที่อาจเกี่ยวกับตับ เช่น ตัวเหลืองตาเหลือง ปวดท้อง ท้องบวม ปัสสาวะเป็นสีเข้ม อุจจาระสีซีด อ่อนเพลียติดต่อกันเป็นเวลานาน คลื่นไส้ อาเจียน หรือไม่อยากอาหาร ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วน หากผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมได้เร็วก็อาจหายดีได้เร็วขึ้น และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อตับและการเสียชีวิตอีกด้วย